นกกรงหัวจุกด่าง(นกด่าง)

วงการนกหัวจุกถือเป็นวงการสัตว์เลี้ยงที่มีเอกลักษณ์และความนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้นกหัวจุกตามธรรมชาติถูกจับไปเลี้ยงโดยไม่ถูกคำนึงถึงว่านกหัวจุก อาจจะสูญพันธุ์ไปหมดจากป่าของประเทศไทยได้ ในอนาคตลูกหลานของเราอาจจะพบนกหัวจุกอยู่ตามธรรมชาติได้อย่างยากเย็น วงการนกหัวจุกยังมีอีกหลายด้านที่หลายคนยังไม่ค้นพบว่าน่าทดลองและพัฒนา เนื่องจากนกหัวจุกเป็นนกที่เลียนเสียงได้ มีความเป็นนักสู้ และสามารถเพาะพันธุ์เป็นสัตว์เลี้ยงราคาแพงที่ครอบครัวไหนก็สามารถเพาะได้ โดยไม่ต้องอาศัยสายเลือดของนกเป็นสำคัญอย่างวงการนกเขาชวาเสียง นกหัวจุกชั้นดี มีใจสู้ สีสันสวยงาม ราคาแพงลิ่ว อาจเกิดขึ้นในครอบครัวไหน กรงเพาะไหนก็ได้ แต่ต้องอาศัยหลักพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวบ้าง โชคดีแบบนี้ สมารถกำหนดขึ้นโดยหลักการง่ายๆ
หลายคนอาจจะถกเถียงกันว่า นกหัวจุกถ้าเติบโตตามธรรมชาติจะแข็งแรงและใจสู้กว่านกเพาะ แนวคิดเช่นนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่จากที่นกเขาดอทคอมได้ศึกษาพันธุกรรมมา ยีนที่ควบคุมความแข็งแรงและใจสู้ จะเพิ่มหรือสืบทอดได้เด่นชัดขึ้นเมื่อผสมข้ามสายหรือผสมกับนกที่ใจสู้ด้วยกัน และจะมีความแข็งแรงมากขึ้นหากพ่อแม่ถูกเลี้ยงมาอย่างดี ให้อาหารอย่างดี มีโครงสร้างใหญ่ น่าเกรงขาม ซึ่งก็เหมือนกับการเพาะเลี้ยงไก่ชน ที่บรรพบุรุษของไก่ชนก็คือไก่ป่าที่มีตัวเล็ก ปราดเปรียว คนโบราณนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง พัฒนาต่อๆกันมาจนเป็นสายเลือดที่ห่างจากไก่ป่า เป็นไก่ชนที่มีความอดทน โครงสร้างเหมาะกับการต่อสู้
นกหัวจุกถือเป็นนกที่มีคุณสมบัติที่พัฒนาได้ง่ายกว่าไก่ชนและนกเขาชวาเสียง โดยนกหัวจุกไม่ต้องคำนึงถึงเหล่าหรือสายเลือดมากเท่าไหร่นัก จะสร้างสายเลือดเองจากนกไหนก็ได้ที่มีโครงสร้างดี อดทน และนกเหล่านี้ไม่ได้มีราคาแพงจนเอื้อมไม่ถึง แค่หมั่นเสาะหาก็ได้นกดีมาเพาะพันธุ์ นกพ่อแม่พันธุ์อาจจะเป็นนกใต้ที่เดี๋ยวนี้หายากขึ้นทุกวัน เมื่อได้ลูกมาแล้วก็นำมาเลียนเสียงเพลงจากนกครู สร้างนกแข่งรุ่นใหม่ หรือหากอยากจะสร้างเอกลักษณ์และท้าทายมากกว่านั้น ต้องเป็นนกหัวจุกแฟนซี มีเสียงใหญ่ ไพเราะ โครงสร้างใหญ่ น่าเกรงขาม สั่งให้ร้องได้ และนั่น คงเป็นนกในอุดมคติ ที่ทุกคนสามารถเพาะขึ้นมาเองได้ โดยอาศัยภูมิปัญญาของไทยทำให้เกิดขึ้น
หลักพันธุกรรมที่นกเขาดอทคอมได้เขียนขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากการสังเกตจากพันธุกรรมนกหลายชนิด ซึ่งพันธุกรรมนกแฟนซีที่เกิดขึ้นมีบางส่วนที่คล้ายกันและอิงกฏของยีนเด่นและยีนด้อยเหมือนกัน ตามรายละเอียดที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นแค่สมมติฐานเท่านั้น ท่านอาจจะทดลองเพาะและหาข้อสรุปด้วยตัวท่านเองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการต่อไป

นกด่างเกิดจากระบบของร่างกายนกตัวนั้นไม่ได้ผลิตเม็ดสีหรือมีการผลิตเม็ดสีบกพร่องในบางส่วนของร่างกาย จึงทำให้ขนบางส่วนมีเม็ดสีน้อยหรือขาดเม็ดสีและแสดงลักษณะของขนไล่ตั้งแต่ขนสีขาวหรือสีอ่อนจนถึงสีเข้ม นกหัวจุกที่เป็นนกด่างถือกำเนิดมาจากนกป่าโดยเป็นนกปรกติผสมพันธุ์กันและเกิดเป็นนกด่างโดยธรรมชาติโดยบังเอิญ เรียกว่าการกลายพันธุ์ ผู้เลี้ยงจึงเห็นเป็นนกแปลกและสวยงามจึงได้นำมาขยายพันธุ์ นกหัวจุกด่างมีหลายประเภทนับตั้งแต่ นกด่างแค่ส่วนหัว หรือบางนกอาจจะด่างทั้งตัว แต่การเพาะนกจำพวกนี้ต้องดูลักษณะที่เหมือนกันมาเข้าคู่กัน เช่น ไม่ควรนำเอานกด่างแค่ส่วนหัว นำไปเพาะกับนกด่างที่มีขนด่างทั้งตัว เพราะคาดว่าการเข้าคู่แบบนี้ เป็นการเข้าคู่ที่พ่อแม่ด่างต่างกัน รุ่นลูกที่เกิดมา ภายนอกอาจจะเป็นนกสีปรกติโดยทั้งหมด แต่แฝงยีนด่างซึ่งกว่าจะเพาะเป็นนกด่างอีกครั้งต้องเสียเวลานำรุ่นลูกมาผสมกันอีก เพื่อหวังนกด่างในรุ่นหลานนั่นก็ทำให้เสียเวลาเปล่า

ส่วนนกด่างหัวอินทรีย์ คาดว่าไม่เป็นประเภทเดียวกับนกด่าง เพราะการเกิดขนสีขาวเป็นบริเวณต่างกันกับนกด่าง ควรนำนกด่างที่มีลักษณะเหมือนกันมาเข้าคู่กันเท่านั้น แต่นกด่างหัวอินทรีย์จะเป็นยีนเด่นหรือด้อยนั้น ยังไม่มีผู้ค้นพบ
ด่างที่เป็นยีนเด่น และด่างที่เป็นยีนด้อย
ความด่างในนกหัวจุกอาจจะต่างจากความด่างในนกเขาใหญ่และนกเขาชวา ในนกเขาส่วนมากจะเป็นยีนเด่น แต่นกหัวจุกเท่าที่ได้ยินมามักจะเพาะไม่ค่อยได้ลูกด่างกัน อาจจะเป็นเพราะว่ายีนด่างในนกหัวจุกเป็นยีนด้อย หรือการเข้าคู่นกหัวจุกนั้น นำเอานกด่างต่างประเภทมาเข้าคู่กัน จึงไม่ปรากฏลูกนกด่างออกมาเลย ทั้งนี้คุณๆสามารถลองเพาะนกหัวจุกด่างได้ เพื่อหาข้อสรุปว่าความด่างในนกหัวจุกเป็นยีนเด่นหรือด้อย โดยยีนทั้งสองชนิดมีการแสดงออกต่างกันดังนี้
นกด่างที่เป็นยีนเด่น จะแสดงลักษณะข่มต่อนกสีอื่นๆได้ เมื่อเพาะออกมาจะมีสัดส่วนลูกที่ต้องการตามตาราง
การเข้าคู่ | โอกาสที่จะได้ |
นกด่างที่เป็นยีนเด่น + นกสีอื่น | นกด่างที่เป็นยีนเด่น 50%นกสีอื่น 50% |
นกด่างที่เป็นยีนเด่น + นกด่างที่เป็นยีนเด่น | นกด่างที่เป็นยีนเด่นทุกตัว |
นกด่างที่มียีนเป็นยีนด้อย เป็นนกด่างที่ไม่สามารถแสดงออกทางสีขนภายในรุ่นลูกเมื่อผสมกับนกสีปรกติ นกด่างประเภทนี้คือนกที่มีความด่างเป็นจุดน้อยๆ และรวมไปถึง นกด่างโอวัลติน ยีนประเภทนี้จะถูกข่ม จะไม่สามารถให้ลูกที่เป็นด่างได้เลยเมื่อผสมกับนกปรกติ แต่ลูกที่ได้นั้นจะมียีนแฝงเป็นด่างและจะให้รุ่นหลานเป็นด่างได้เมื่อนำมาผสมกันอีกครั้ง
การเข้าคู่นกด่างที่เป็นยีนด้อย
การเข้าคู่ | โอกาสที่จะได้ |
นกด่างยีนด้อย + นกสีอื่น | นกสีอื่นแฝงด้วยยีนด่าง 100% |
นกสีอื่นแฝงยีนด่าง + นกสีอื่นแฝงยีนด่าง | นกสีอื่น 25%นกสีอื่นแฝงยีนด่าง 50%
นกด่างที่เป็นยีนด้อย 25%
|
นกด่างที่เป็นยีนด้อย + นกด่างที่เป็นยีนด้อย | นกด่างที่เป็นยีนด้อย 100% |
จะเห็นได้ว่า ยีนด่างอาจเป็นได้ทั้งเด่นและด้อย ขึ้นอยู่กับนกด่างชนิดนั้นจะมาจากพื้นที่ใด การนำนกมาเข้าคู่ต้องดูลักษณะด่างด้วยว่าด่างคล้ายกันหรือไม่ ถ้าเข้าคู่นกที่มีความด่างต่างกัน ลูกที่ได้อาจจะเป็นนกสีธรรมดา ไม่มีความด่างปรากฏขึ้นเลยก็ได้
ที่มาจาก https://youtu.be/UUeba2dX1vg
นกเผือก ( albino )
นกหัวจุกเผือกมีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆ จึงมีราคาแพง หายาก และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอันมาก นกเผือกเป็นนกที่มีการบกพร่องของสร้างของเม็ดสีในตัว ทำให้ขนที่ออกมาเป็นสีขาวเนื่องจากไม่มีเม็ดสีเป็นตัวกำหนดสีขนแต่ที่แปลกคือตรงแก้มของนกเผือกยังมีสีแดงเหมือนกับนกหัวจุกโดยทั่วไป และส่วนอื่นเช่นมีเล็บสีขาว เท้าสีชมพู ปากสีชมพู ตาจะมีสีแดงเนื่องจากขาดเม็ดสีในนัยน์ตา และเนื้อเยื่อข้างในที่เลือดไปหล่อเลี้ยงแสดงออกมาทำให้ตานกเป็นสีแดง นกเผือกจะไม่ทนต่อแสงแดด เนื่องจากแสงอุลตราไวโอเล็ตจะไปทำลายเนื้อเยื่อในนัยน์ตาเนื่องจากไม่มีเม็ดสีและส่วนประกอบป้องกันอยู่ จึงไม่ควรนำนกไปตากแดดจัด เพราะอาจทำให้นกตาบอดได้ และนกเผือกจะมีความต้านทานต่อโรคต่ำ จึงควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ ควรระวังในกรณีการนำเอานกเผือกทั้งตัวผู้และนกเผือกตัวเมียมาผสมกัน เนื่องจากนกเผือกที่ได้ในรุ่นลูกส่วนใหญ่จะมีความอ่อนแอเนื่องจากได้รับยีนด้อยจากทั้งพ่อและแม่รวมกัน ทำให้ลูกนกเผือกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นนกเผือกทั้งคู่ จะมีความต้านทานโรคต่ำ หรือตายตั้งแต่อยู่ในไข่
ยีนเผือกถือว่าเป็นยีนด้อย(recessive)ที่จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นนกเผือก เมื่อผสมกับนกสีปรกติ ยีนเผือกจะแสดงออกมาเมื่อนกได้รับยีนเผือกจากทั้งพ่อและแม่เท่านั้น
การเข้าคู่นกเผือก
การเข้าคู่ | โอกาสที่จะได้ |
นกเผือก + นกเผือก | นกเผือกทุกตัว |
นกเผือก + นกสีปรกติ | – นกสีปรกติแฝงยีนเผือกทุกตัว |
นกสีปรกติแฝงยีนเผือก + นกเผือก | – 50%นกเผือก– 50%นกสีปรกติแฝงยีนเผือก |
นกสีปรกติแฝงยีนเผือก + นกสีปรกติแฝงยีนเผือก | – 25%นกเผือก– 50%นกสีปรกติแฝงยีนเผือก
– 25%นกสีปรกติ
|
นกสีปรกติแฝงยีนเผือก + นกสีปรกติ | – 50%นกสีปรกติแฝงยีนเผือก
– 50% นกสีปรกติ
|
ที่มาโดย https://youtu.be/BPRgxzUXeh0
นกสีโอวันติน (Fawn)
ที่มาจาก https://youtu.be/en82oFdv6g4
นกสีโอวัลตินเป็นนกที่สวยงามอีกเช่นกัน จากส่วนของร่างกายจากนกปรกติที่เป็นขนสีดำ จะกลายเป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลในนกปรกติ จะเป็นสีน้ำตาลอ่อนออกสีนวลๆ นกสีโอวัลตินจะมีตาสีแดงคล้ำ นกสีโอวัลตินยังจะมีเม็ดสีอยู่บ้าง แต่จางกว่านกสีปรกติ แต่ยังมากกว่านกเผือก การเพาะนกสีโอวัลตินถือเป็นการสืบพันธุ์ที่เข้าข่ายกฏของยีนที่ส่งผ่านยีนสีโอวัลตินโดยอาศัยโครโมโซมเพศเป็นสื่อ

กฎของsex-linked sex-linked ยีน เป็นยีนที่อยู่ในโครโมโซมเพศ หรือโครโมโซมที่แทนด้วยสัญลักษณ์ Z นกเขาตัวผู้จะมีโครโมโซมZ สองตัวจับอยู่เป็นคู่ ส่วนนกเขาตัวเมียมีโครโมโซมZตัวเดียว บวกกับสัญลักษณ์ W ที่ไม่มีโครโมโซมเพศอยู่ ตัวอย่าง เมื่อนำนกสีโอวัลตินตัวผู้ผสมกับนกตัวเมียสีปรกติ จะให้ลูกตัวผู้เป็นนกสีปรกติแต่มียีนสีโอวัลตินแฝงอยู่ ส่วนลูกตัวเมียที่ได้ จะเป็นนกสีโอวัลติน แต่ถ้านำนกสีโอวัลตินตัวเมียมาผสมกับนกสีปรกติตัวผู้ จะไม่สามารถให้ลูกที่เป็นนกสีโอวัลตินได้เลย เพราะนกตัวเมียจะมีโครโมโซมWเป็นตัวกำหนดอยู่ ลูกนกตัวเมียที่ได้จะเป็นนกปรกติแท้ และลูกนกตัวผู้ที่ได้จะเป็นนกสีปรกติที่มียีนสีโอวัลตินแฝงอยู่ ซึ่งจะให้รุ่นหลานเป็นนกสีโอวัลตินได้เมื่อผสมกันอีกทอดหนึ่ง
Sex-linked ยีนในนกจะช่วยบอกเพศของนกที่จะออกมา โดยอ้างอิงหลักตามกฏข้างต้น เช่น อยากให้ลูกที่เกิดมาเป็นตัวเมียสีโอวัลติน ควรจะใช้พ่อนกและแม่นกสีอะไร ผลที่ได้ก็จะเป็นดังตาราง
การเข้าคู่นกสีโอวัลติน
การเข้าคู่ | โอกาสที่จะได้ |
นกสีโอวัลติน + นกสีสีโอวัลติน | นกสีโอวัลติน ทุกตัว |
นกสีโอวัลตินตัวผู้ +นกสีปรกติตัวเมีย | – นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้– นกสีโอวัลติน ตัวเมีย |
นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้ +นกสีโอวัลติน ตัวเมีย | – นกสีโอวัลติน ตัวผู้– นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้
– นกสีโอวัลติน ตัวเมีย
– นกสีปรกติตัวเมีย
|
นกสีปรกติตัวผู้ +นกสีโอวัลติน ตัวเมีย | – นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้– นกสีปรกติตัวเมีย |
นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้ +นกสีปรกติตัวเมีย | – นกสีปรกติตัวผู้– นกสีปรกติแฝงยีนสีโอวัลติน ตัวผู้
– นกสีโอวัลติน ตัวเมีย
– นกสีปรกติตัวเมีย
|
นกสีโอวัลตินจะมีระดับความเข้มของสีไล่ตั้งแต่อ่อนจนไปถึงแก่ บางนกก็เป็นสีโอวัลตินเข้ม บางนกก็เป็นสีโอวัลตินจางๆ ซึ่งความอ่อนแก่ของสีจะแสดงระดับความมากน้อยในการสร้างเม็ดสีของนก ซึ่งแสดงออกมาในขนนกที่มีลักษณะเป็นสีโอวัลตินเป็นกรณีคล้ายกันกับนกเขาสีหม้อใหม่
หมายเหตุ : โอกาสที่จะได้กับผลเป็นเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่นั้นๆ มีโอกาสเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น นกครอกหนึ่งที่เกิดมามีสี่ตัว โอกาสเป็นนกสีแปลกเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ในลูกนกสี่ตัว มีโอกาสเป็นนกแฟนซีได้ 1 ตัว หรือ นกครอกหนึ่งมี2ตัว โอกาสได้นกสีแปลก 50 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งหนึ่งของลูกนกอาจเป็นนกสีแปลก และอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือหนึ่งตัว เป็นนกสีธรรมดา ส่วนนกครอกที่มีสามตัว กับเปอร์เซ็นต์นกสีแปลก 50เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนที่เกิดก็จะเกิดขึ้นสองในสาม หรือหนึ่งในสาม ก็เป็นได้
วงการนกหัวจุกและวงการนกเขาชวา ถือเป็นวงการสัตว์เลี้ยงที่เกิดขึ้นคู่กับสังคมไทยและจะพัฒนาต่อไปในแนวทางที่ดีขึ้น จากเป็นนกที่เคยอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง เป็นนกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง มีคุณสมบัติเหนือกว่านกป่า และเป็นที่นิยม ส่วนอนาคตจะเป็นไปในแนวทางใด ตัวของท่านเองเท่านั้น ที่เป็นผู้กำหนด
ช่วยกันอนุรักษ์นกหัวจุกให้อยู่ตามธรรมชาติ โดยการไม่ซื้อนกป่า หันมาเพาะพันธุ์กันเอง
งานเขียนนี้ท่านสามารถนำไปใช้ส่วนตัว หรือไปเป็นเนื้อหาของเวบหรือสื่อใดก็ได้
*****ไม่สงวนลิขสิทธิ์*****
อ้างอิงที่มาของเนื้อหาจาก https://teerasak123.wordpress.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น